การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กร เป็นสิ่งที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ความสำคัญในมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการ ความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความพึงพอใจ ความไว้วางใจ ความผูกพัน และสนับสนุน กฟน. ในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน
นโยบายด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
กฟน. มุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มควบคู่กับการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าที่มั่นคง และคุณภาพการบริการ โดยการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กฟน. ให้ความสำคัญต่อการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน โดยยึดหลักปฏิบัติบนพื้นฐานความเป็นธรรม เสมอภาค และคำนึงถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวตามกฎหมาย หรือตามข้อตกลงที่มีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำกับดูแลให้มีกลไกและการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการดำเนินงาน และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างเสริมความผูกพัน สร้างการมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วัตถุประสงค์ของการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
กฟน. กำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้
-
1
เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก และลดผลกระทบเชิงลบ ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง -
2
เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและก่อให้เกิดการบูรณาการเข้ากับการบริหารจัดการในทุกระดับเพื่อพัฒนาการดำเนินกิจการ ลดความเสี่ยง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของ กฟน.
ขอบเขตการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ กฟน.
กฟน. การบริหารจัดการกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของ กฟน. เพื่อสร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยกำหนดขอบเขตให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้ง 8 กลุ่ม ดังนี้

แนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ กฟน.
เพื่อให้การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของการไฟฟ้านครหลวง เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกัน เพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการไฟฟ้านครหลวง โดยครอบคลุมความรับผิดชอบทั้ง 10 กลุ่ม ดังนี้
1) ความรับผิดชอบต่อกลุ่มลูกค้าและผู้ใช้ไฟฟ้า
- จัดจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ เชื่อถือได้ ปลอดภัย มีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากลและให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในราคาที่เป็นธรรม
- กำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างเคร่งครัด และรักษาไว้ ซึ่งคุณภาพของการบริการให้ได้มาตรฐานตลอดเวลา
- ให้บริการที่สุภาพ สะดวก รวดเร็ว ตรงต่อความต้องการของลูกค้า ด้วยความเสมอภาค และมุ่งมั่นในการพัฒนาการบริการ รวมทั้งแสวงหาช่องทางที่จะเพิ่มประโยชน์ให้แก่ลูกค้า อย่างต่อเนื่อง
- เปิดเผยข่าวสารข้อมูลด้านบริการ อัตราค่าไฟฟ้า และค่าบริการต่าง ๆ อย่างครบถ้วนถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์
- จัดระบบเพื่อให้ลูกค้าและประชาชน สามารถร้องเรียนหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับไฟฟ้าหรือบริการได้อย่างสะดวก และมีการดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้าและประชาชนได้รับ การตอบสนองผลอย่างรวดเร็ว
- รักษาความลับของลูกค้าอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ รวมถึงไม่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
2) ความรับผิดชอบต่อกลุ่มสังคมชุมชน
- การปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
- คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและไม่กระทำการใด ๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะ
- ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และให้ความร่วมมือกับพนักงาน ลูกค้า ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สังคม ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมอันดีต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
- การนำความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจมาพัฒนาโครงการที่สามารถสร้างเสริมประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
- กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการทำงานของ การไฟฟ้านครหลวง ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3) ความรับผิดชอบต่อกลุ่มผู้กำกับนโยบายและภาครัฐ
- สนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งงานเชิงนโยบาย (Agenda) งานตามภารกิจ (Function) และงานเชิงพื้นที่ (Area)
- ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาการไฟฟ้านครหลวงให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในระยะยาว
- จัดทำรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญแก่หน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้ใช้ในการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวง และมีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร งานบริการ การร้องเรียน และข้อปัญหาต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
- มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่จะสามารถเตรียมการในเรื่องการวางแผนทรัพยากร ทั้งในเรื่องทรัพยากรบุคคลและด้านการเงิน เพื่อรองรับการดำเนินการตามนโยบายได้อย่างบรรลุเป้าหมาย
4) ความรับผิดชอบต่อกลุ่มพันธมิตร
- ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบข้อบังคับ และจรรยาบรรณของ กฟน. อย่างเคร่งครัด
- ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใส
- สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้มีการใช้ทรัพยากรและ พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ
- ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม
4.1) ความรับผิดชอบต่อคู่ค้า
- ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างเคร่งครัด และกำกับดูแลให้เคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อแรงงานของตนเองอย่างเป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาการประกอบธุรกิจระหว่างกันอย่างยั่งยืน หากมีกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรณีใดได้ จะแจ้งให้คู่ค้าทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขทันที
- ยึดถือปฏิบัติในเรื่องนโยบายการรับและให้ของขวัญ ตามประกาศการไฟฟ้านครหลวง เรื่อง นโยบายการรับและให้ของขวัญ
4.2) ความรับผิดชอบต่อผู้ส่งมอบ
- จัดทำคู่มือวิธีปฏิบัติในการซื้อขายไฟฟ้า และหลักปฏิบัติในการซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ การไฟฟ้านครหลวง เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้อง ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
- กำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหา/อุปสรรค รวมทั้งร่วมกันปรับปรุงหลักปฏิบัติในการ ติดต่อประสานงาน การจ่ายไฟฟ้า และคู่มือวิธีปฏิบัติในการซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับการไฟฟ้านครหลวง ให้มีความครบถ้วนถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
- ให้ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงระบบการซื้อขายไฟฟ้าให้มีความก้าวหน้า ตามเทคโนโลยี และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ โดยนำเทคโนโลยีด้านระบบไอซีที มาปรับใช้ในเรื่องของการตรวจสอบหน่วยซื้อขายไฟฟ้า เพื่อความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ
- ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาที่มีต่อผู้ส่งมอบอย่างเป็นธรรม และกำกับดูแลให้ผู้ส่งมอบเคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อแรงงานของตนเองอย่างเป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาการประกอบธุรกิจระหว่างกันอย่างยั่งยืน
- มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ และตรวจสอบได้
- กำหนดให้ผู้ส่งมอบที่มีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างตามที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ต้องจัดให้มีนโยบายในการป้องกันการทุจริต และมีแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม
- จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) มีมติเห็นชอบให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม
- ยึดถือปฏิบัติในเรื่องนโยบายการรับและให้ของขวัญจากคู่ค้า ตามประกาศการไฟฟ้านครหลวง เรื่องนโยบายการรับและให้ของขวัญ
4.3) ความรับผิดชอบต่อคู่ความร่วมมือ
- ดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างเคร่งครัด และเป็นไปอย่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจระหว่างกันเป็นไปอย่างยุติธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เสมอภาค และตรวจสอบได้
- ยึดถือปฏิบัติในเรื่องนโยบายการรับและให้ของขวัญจากคู่ค้า ตามประกาศการไฟฟ้านครหลวง เรื่องนโยบายการรับและให้ของขวัญ
4.4) ความรับผิดชอบต่อบริษัทในเครือ
- การไฟฟ้านครหลวงจะส่งบุคคลที่เป็นตัวแทนขององค์กรเข้าไปเป็นกรรมการ ตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทในเครือดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของการไฟฟ้านครหลวง รวมถึง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไป ทั้งนี้ การส่งตัวแทนของการไฟฟ้านครหลวง เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทในเครือให้เป็นอำนาจอนุมัติ ของคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบริษัทในเครือ
- การไฟฟ้านครหลวงต้องได้รับรายงานแผนการประกอบธุรกิจ การขยายธุรกิจ ตลอดจนการเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ จากบริษัทในเครือ ผ่านรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกไตรมาส การไฟฟ้านครหลวงมีสิทธิเรียกให้บริษัทในเครือ เข้าชี้แจง หรือนำเสนอเอกสารประกอบ การพิจารณาดังกล่าว ซึ่งบริษัทในเครือต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- การไฟฟ้านครหลวงมีนโยบายให้บริษัทในเครือมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและรัดกุมเพียงพอ เพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทในเครือ เป็นช่องทางให้คณะกรรมการและผู้บริหารของการไฟฟ้านครหลวง สามารถได้รับข้อมูลของบริษัทในเครือ ในการติดตามดูแลผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงิน การทำรายการระหว่างบริษัทในเครือร่วมกับกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท ในเครือ และการทำรายการที่มีนัยสำคัญของบริษัทในเครืออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทในเครือต้องมีกลไกในการตรวจสอบระบบงาน โดยให้ทีมงานผู้ตรวจสอบภายในและกรรมการอิสระของการไฟฟ้านครหลวง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง และให้มีการรายงานผลการตรวจสอบระบบงานดังกล่าวให้ กรรมการ และผู้บริหารบริษัทในเครือ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทในเครือ มีการปฏิบัติตามระบบงานที่จัดทำไว้อย่างสม่ำเสมอ
- การไฟฟ้านครหลวงมีนโยบายให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทในเครือ ต้องเปิดเผย และนำส่งข้อมูลส่วนได้ส่วนเสียของตนและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ต่อคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ให้ทราบถึงความสัมพันธ์ และการทำธุรกรรมกับบริษัทฯ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิด ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการทำรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท โดยคณะกรรมการของบริษัทในเครือ มีหน้าที่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงทราบภายในกำหนดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินหรืออนุมัติใดๆ ซึ่งการพิจารณานั้นจะคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของการไฟฟ้านครหลวง หรือ บริษัทในเครือ เป็นสำคัญ
- กรณีที่ การไฟฟ้านครหลวง ตรวจพบประเด็นที่มีนัยสำคัญใดๆ อาจแจ้งให้บริษัทในเครือชี้แจงและ/หรือนำส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาได้
5) ความรับผิดชอบต่อกลุ่มสื่อสารมวลชน
- สื่อสารสร้างความเข้าใจภารกิจ การไฟฟ้านครหลวง อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พร้อมเนื้อหาภาพประกอบ รวมถึงคลิปต่าง ๆ ให้กับสื่อมวลชนเพื่อพิจารณานำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
- เสริมสร้างสานสัมพันธ์ที่ดี
- ร่วมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของสื่อมวลชนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- จัดการตอบสนองความต้องการของสื่ออย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ด้วยเครื่องมือบนระบบออนไลน์
- จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนในรูปแบบต่าง ๆ
6) ความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
- ปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของการไฟฟ้านครหลวง ตลอดจน มติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม และรักษาไว้ ซึ่งผลประโยชน์ของการไฟฟ้านครหลวง
- ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะผู้นำองค์กรที่กำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืน
- เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะกรรมการ ผู้บริหาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักและพันธกิจขององค์กร>
- เก็บรักษาข้อมูล และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่น
- จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย/คณะอนุกรรมการ ทั้งรายคณะและรายบุคคล และนำผลการประเมินไปพิจารณาแนวทางการพัฒนาในการปฏิบัติหน้าที่
7) ความรับผิดชอบต่อพนักงานและลูกจ้าง
- จัดวางแนวทางการรักษาบุคลากรให้อยู่กับองค์กร โดยมีการประเมินความพึงพอใจของพนักงานต่อองค์กรทุกปี เพื่อวิเคราะห์และเติมเต็มความต้องการของพนักงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมความพึงพอใจของพนักงานและความผูกพันต่อองค์กร รวมถึงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
- จัดให้มีกระบวนการสรรหาและว่าจ้าง โปร่งใส เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงทักษะ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่สอดคล้องกับการประกอบกิจการขององค์กร เป็นสำคัญ โดยไม่จำกัดด้านศาสนา วัฒนธรรม เพศ และความพิการ เพื่อให้ได้อัตรากำลังที่มีความหลากหลายทางความคิดเข้ามาร่วมสืบสานภารกิจขององค์กร
- จัดให้มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่โปร่งใส เป็นธรรม มีระบบการจ่ายค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ทั้งในรูปที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ ศักยภาพการปฏิบัติงาน โดยเทียบเคียงได้กับรัฐวิสาหกิจชั้นนำทั่วไป
- ปรับปรุงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ โดยนำปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกผลการประเมินความพึงพอใจรายปี มาศึกษา วิเคราะห์ และจัดสวัสดิการตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมแก่พนักงานตามความต้องการที่หลากหลาย
- จัดให้มีการพัฒนาศักยภาพ และเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานในแต่ละระดับ และจัดอบรมพนักงานจ้างเหมาก่อนเข้าปฏิบัติงาน
- จัดวางแนวทางการบริหารจัดการบุคลากรตามกรอบอัตรากำลังที่กำหนด
- จัดทำแผนการพัฒนาคนเก่งเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรคุณภาพ (Talent Management) และแผนสืบทอดตำแหน่งทางการบริหาร (Succession Plan)
- ดำเนินโครงการปัจฉิมนิเทศ การให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์รวมถึงจัดเก็บองค์ความรู้แก่พนักงานเกษียณอายุ
- เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างฝ่ายบริหารกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง และดำเนินการเกี่ยวกับงานคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในการไฟฟ้านครหลวง
- สนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานระหว่างหน่วยงาน/คณะทำงานภายใน ของ กฟน. ผ่านค่านิยม CHANGE
8) ความรับผิดชอบต่อคู่แข่ง/คู่เทียบ (การแข่งขันอย่างเป็นธรรม)
- การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยต่อต้านการผูกขาดและการเลือกปฏิบัติทางการค้า ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
- ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่ง/คู่เทียบอันจะนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม
- การต่อต้านทุจริตและรับสินบนที่จะนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด
9) ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- คำนึงถึงทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดย ไม่ก่อให้มีผลกระทบต่อความเสียหายของสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเกิดน้อยที่สุด
- ปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
- ให้ความสำคัญในการทำธุรกรรมกับคู่ค้าที่มีเจตจำนงเดียวกันกับกลุ่มบริษัทฯ ในเรื่องความรับผิดชอบต่อ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
- ถือเป็นหน้าที่และเป็นนโยบายหลักในการให้ความสำคัญกับกิจกรรมของชุมชนและสังคมโดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสร้างสรรค์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน และกิจกรรมสาธารณประโยชน์
10) ความรับผิดชอบต่อการทุจริตและคอร์รัปชั่น
- การไฟฟ้านครหลวง มุ่งมั่นและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ รวมถึงไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่น โดยคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ต้องแสดงออกถึงการต่อต้านการทุจริตและการให้สินบน ในทุก รูปแบบ ทุกเวลา ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม
- จัดทำวิธีการปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน ให้มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและรับสินบน
- ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของการไฟฟ้านครหลวง จะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
- กำหนดให้มีและดำเนินการพัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ข้อคิดเห็น หรือการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งมีมาตรการการให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอรัปชั่น ตามนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด (Whistle Blowing)
- กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรฐานที่ดี และเปิดให้มีช่องทางการสื่อสาร ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- การดำเนินการตามนโยบายนี้ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนดไว้ในคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่อง จรรยาบรรณ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งระเบียบ ข้อบังคับ และคู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องของ การไฟฟ้านครหลวง
คู่มือการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการไฟฟ้านครหลวง
MEA ได้นำ AA1000 Stakeholder Engagement Standard (AA1000SES) โดย AccountAbility ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าด้วยกระบวนการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับความนิยมและการยอมรับในระดับสากล มาใช้เป็นกรอบแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีขั้นตอนตั้งแต่ การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดลำดับความสำคัญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การระบุประเด็นระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดทำแผนบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์การสร้างการมีส่วนร่วม ความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ การติดตามประเมินผล และการประเมินผลความผูกพันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการไฟฟ้านครหลวง (Engagement Score) เพื่อนำผลการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงกระบวนการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปีถัดไป เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาการไฟฟ้านครหลวง เพื่อยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป
แผนยุทธศาสตร์ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการไฟฟ้านครหลวง ปี 2566-2570 (ปรับปรุงครั้งที่ 1)
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ปี 2566-2570

แผนปฏิบัติ ด้านการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ของ กฟน. ประจำปี 2565
ผลการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รอบปี 2565





ไฟล์แนบ
ชื่อไฟล์ | ดาวน์โหลด | วันที่สร้าง | |||
---|---|---|---|---|---|
แผนยุทธศาสตร์ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปี 2566-70 (ปรับปรุงครั้งที่ 1).pdf
ขนาดไฟล์: 5.26 MB |
103 | 6 ม.ค. 66 | |||
คู่มือการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ปรับปรุงครั้งที่ 1).pdf
ขนาดไฟล์: 1.98 MB |
95 | 6 ม.ค. 66 | |||
รายงานผลการสร้างความสัมพันธ์ สนพ_.pdf
ขนาดไฟล์: 78.49 KB |
75 | 26 ม.ค. 66 | |||
รายงานผลการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่.pdf
ขนาดไฟล์: 371.70 KB |
69 | 26 ม.ค. 66 | |||
รายงานผลการสร้างความสัมพันธ์ สกพ_.pdf
ขนาดไฟล์: 415.68 KB |
82 | 26 ม.ค. 66 | |||
รายงานผลการสร้างความสัมพันธ์ มท_.pdf
ขนาดไฟล์: 429.28 KB |
92 | 26 ม.ค. 66 | |||
รายงานผลการสร้างความสัมพันธ์ กทม_.pdf
ขนาดไฟล์: 464.67 KB |
75 | 26 ม.ค. 66 | |||
รายงานผลการสร้างความสัมพันธ์ สศช_.pdf
ขนาดไฟล์: 491.50 KB |
76 | 26 ม.ค. 66 | |||
รายงานความยั่งยืน กฟน. ปี 2564 ฉบับสาระสำคัญ.pdf
ขนาดไฟล์: 2.80 MB |
182 | 30 ม.ค. 66 | |||