การไฟฟ้านครหลวงคำนึงถึงการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ นโยบายที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
วัตถุประสงค์ของนโยบาย
1. เพื่อกำหนดนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริหาร พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบเจตนารมณ์และกรอบนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC)
2. เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับมีจิตสำนึกและปฏิบัติงานภายใต้กรอบนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC)
3. เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC)
คำจำกัดความ
การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) หมายถึง ระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องและผสมผสานการดำเนินการขององค์ประกอบ ด้านพนักงาน (People) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Technology) ในเชิงบูรณาการ เพื่อให้องค์กรสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับมูลค่าและความเสี่ยง จัดให้มีการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จริยธรรมและจรรยาบรรณ ตลอดจนให้ข้อมูลที่เหมาะสม น่าเชื่อถือ และทันกาลแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)
การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) หมายถึง การบริหารองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างกลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 7 ประการ คือ หลักความรับผิดชอบ หลักสำนึกในหน้าที่ หลักความเสมอภาค หลักความโปร่งใส หลักการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลักคุณธรรม และหลักการมีส่วนร่วม
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) หมายถึง การกำหนดแนวทางและกระบวนการในการบ่งชี้ วิเคราะห์ ประเมิน จัดการ ติดตาม และสื่อสารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม หน่วยงาน หรือกระบวนการทำงานขององค์กร เพื่อช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มโอกาสให้แก่องค์กร
การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (Compliance) หมายถึง การปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง สอดคล้อง
และเป็นไปตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบ
และการดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวง
การควบคุมภายใน (Internal Control) หมายถึง กระบวนการปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการ
ฝ่ายบริหาร และพนักงานของหน่วยงาน จัดให้มีขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่าการดำเนินงานขององค์กรจะบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินงานด้านการรายงาน และด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
หลักสำคัญในการปฏิบัติ
1. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงกำหนดนโยบาย กำกับดูแลและส่งเสริมให้มีการบูรณาการการทำงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานสู่มาตรฐานสากล
2. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทและรับผิดชอบ มีความเป็นอิสระและมีการจัดแบ่งบทบาทหน้าที่ไว้ชัดเจน โดยกำกับดูแลกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร และคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
3. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงและผู้บริหารทุกระดับ ต้องเป็นผู้นำต้นแบบที่ดีในการปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ ตลอดจนตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และยึดมั่นในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฏ ระเบียบอย่างเคร่งครัดและรัดกุม โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงานในทุกระดับ และไม่ยอมให้บุคคลใด กระทำการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ (Zero Torerance) รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติไม่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวง
4. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ มุ่งมั่นปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
5. การไฟฟ้านครหลวงจัดให้มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์และวัตถุประสงค์อื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร
6. การไฟฟ้านครหลวงจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในทุกระดับอย่างทั่วถึง กระตุ้นให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงในทุกการตัดสินใจ
7. การไฟฟ้านครหลวงกำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรมีการดำเนินงานภายใต้ขอบเขตกฎหมาย สัญญา นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับ อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิผล
8. การไฟฟ้านครหลวงกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอย่างเพียงพอ เชื่อถือได้และทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับข้อมูลสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน
9. การไฟฟ้านครหลวงจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับฐานข้อมูลด้าน GRC ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
10. การไฟฟ้านครหลวงสื่อสารนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งภายในและภายนอก เพื่อใช้ในการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงาน และส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร
บทบาทและความรับผิดชอบ
1. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เป็นผู้กำกับดูแลและสนับสนุนการนำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) ไปปฏิบัติในองค์กร
2. คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ เป็นผู้กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทของรัฐวิสาหกิจและมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งพิจารณาและกลั่นกรองการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) พร้อมทั้งกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานต่อคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง
3. คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) รวมถึงการควบคุมภายใน (IC)
4. คณะผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดแนวทางและติดตามการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) รวมถึงการควบคุมภายใน (IC) ให้เป็นไปตามกรอบนโยบายที่กำหนด รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงาน พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ
5. หน่วยงานดูแลด้าน GRC มีหน้าที่นำหลักการและแนวทางด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีการบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (GRC) รวมถึงการควบคุมภายใน (IC) โดยมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยง และมีการติดตามสถานการณ์ของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อองค์กร อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรมส่งเสริม และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำ GRC ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริงผ่านกิจกรรมสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะผู้บริหารระดับสูง
6. พนักงานทุกคนรับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
การติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงาน
กำหนดให้มีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะผู้บริหารระดับสูง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เป็นรายไตรมาสหรือเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ
การทบทวนนโยบาย
1. คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ พิจารณาทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) และนำเสนอต่อคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เพื่อทราบเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายดังกล่าวยังเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงานขององค์กร
2. ในกรณีที่คณะผู้บริหารระดับสูงพบว่านโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (GRC) ไม่เหมาะสมกับสภาพการดำเนินงาน ต้องนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ เพื่อพิจารณาการปรับปรุงนโยบาย นำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เพื่อทราบ