• MEA

โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง

MEA HOSPITAL

LAB

การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

Create Date: 23 มี.ค. 59
หัวข้อเรื่อง
  • ชั่งน้ำหนัก-วัดส่วนสูง
  • ความดันโลหิต
  • เอกซเรย์ทรวงอก
  • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ตรวจปัสสาวะสมบูรณ์แบบ
  • ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
  • ระดับไขมันในเลือด (Cholesterol)
  • สมรรถภาพการทำงานของตับ (SGOT & SGPT)
  • สมรรถภาพการทำงานของไต (BUN & Cr)
  • ระดับกรดยูริค (Uric Acid)
  • ไวรัสตับอักเสบ บี (HBsAg & HBsAb)
  • สมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry)
  • สมรรถภาพการทำงานของปอด (Spirometry)
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพ

ในปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวในด้านการตรวจสุขภาพมากขึ้น และรัฐบาลได้มีการส่งเสริม ให้ดำเนินการดังกล่าว เห็นได้จากการที่กระทรวงการคลังได้มีระเบียบอนุมัติให้ ข้าราชการสามารถเบิกจ่ายค่าตรวจสุขภาพได้ ตามรายการที่กำหนด และในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพให้กับลูกจ้างเป็นประจำ มีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยกำหนดให้เป็นข้อหนึ่งอยู่ในสุขบัญญัติ 10 ประการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพควรคำนึงถึงเป้าหมายที่จะได้รับจากการตรวจ จึงจะมีประโยชน์ เป้าหมายสุดท้ายของการให้บริการด้านสุขภาพได้แก่

  • การมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น (Prolong Life)
  • การลดการเจ็บป่วย (Decrease Morbidity)
  • การสร้างเสริมคุณภาพชีวิต (Improve Quality of Life)

ดังนั้นการตรวจสุขภาพใดๆ ที่เพียงทำให้สามารถวินิจฉัยความผิดปกติได้ โดยไม่บรรลุเป้าหมายที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่ได้รับการถือว่ามีประโยชน์ จากที่กล่าวมา การตรวจสุขภาพ จะมีประโยชน์ได้ควรจะต้อง มีรายการ การตรวจที่เหมาะสม และผู้รับการตรวจ มีความเข้าใจต่อผล และค่าที่ได้จากการตรวจ และมีความรู้ที่จะสามารถปรับเปลี่ยน และปรับปรุงตัว ให้สอดคล้องกับผลการตรวจนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นไประโยชน์ของเวชกรรมป้องกัน ที่ทำให้ป้องกันโรคได้จากการค้นหาโรคตั้งแต่ระยะต้นๆ ได้แก่ สถิติการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ลดลงตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากแนวโน้มในการค้นหา และเริ่มรักษาความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ระยะต้นๆ

การชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโรคอ้วน และภาวะทุพโภชนาการในผู้ใหญ่

ปัจจุบันในทางการแพทย์ ถือว่า “ความอ้วน” เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ความอ้วนเกิดจาก การมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ จนมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคถุงน้ำดี, โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วนที่มีผลร้ายต่อร่างกาย มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ โรคอ้วนทั้งตัว, โรคอ้วนลงพุง, และโรคอ้วนทั้งตัวร่วมกับโรคอ้วนลงพุง

  • โรคอ้วนทั้งตัว (Overall Obesity) จะมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ ไขมันมิได้จำกัดอยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยเฉพาะ​
    เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินว่าเป็น ”โรคอ้วน”
    แนะนำให้ใช้ การคำนวณดัชนีมวลร่างกาย (Body Mass Index : BMI)

    ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร)2

    “โรคอ้วนทั้งตัว” ที่แน่นอนที่สุด คือ การวัดปริมาณไขมันในร่างกายว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่เป็นเรื่องยุ่งยากเกินความจำเป็น ในทางปฏิบัติการใช้ ”ดัชนีมวลร่างกาย(BMI)”เป็นวิธีที่เหมาะสม โดยเหตุผลที่ว่า ดัชนีมวลร่างกายแปรตามส่วนสูงน้อย และจากการศึกษาพบว่าค่าของดัชนีมวลร่างกายจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันจริงในร่างกาย และมีความสัมพันธ์กับอัตราการตาย โดยผู้ที่มีดัชนีมวลร่างกายมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์จะมีอัตราการตายสูงกว่า ผู้ที่มีดัชนีมวลร่างกายปกติ

    20.0-25.0 >> ปกติ ต่ำกว่า 20.0 >> น้ำหนักน้อยเกินควร 25.0 – 30.0 >> อ้วนเล็กน้อย สูงกว่า 30.0 >> เป็น ”โรคอ้วน”

  • โรคอ้วนลงพุง (Visceral Obesity) กลุ่มนี้จะมีไขมันของอวัยวะภายใน ที่อยู่ในช่องท้องมากกว่าปกติ และอาจมีไขมันใต้ผิวหนังที่หน้าท้อง เพิ่มมากกว่าปกติด้วย
    เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินว่าเป็น ”โรคอ้วนลงพุง”
    แนะนำให้ใช้ รอบเอว/รอบสะโพก

    (Waist / Hip Circumference ratio : WHR)
    ชาย ควร น้อยกว่า 1.0
    หญิง ควร น้อยกว่า 0.8

    จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่มี “ภาวะอ้วนลงพุง” เกิดโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่า ผู้ที่มีไขมันสะสมมากบริเวณสะโพก และ/หรือ บริเวณต้นขา เนื่องจากไขมันในช่องท้องจะดักจับไขมันชนิดที่ดี (HDL) ทำให้ไขมันชนิดที่ดี (HDL) ในเลือดมีระดับต่ำลง เพราะฉะนั้นผู้ที่มีไขมันสะสมในบริเวณช่วงกลางของลำตัว จะมีระดับไขมันที่ดี (HDL) ต่ำกว่าผู้ที่มีไขมันสะสมบริเวณสะโพก ก้น และต้นขา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าชาวอินเดียในเอเชียเป็นชาติที่มีอัตราเกิดโรคหัวใจขาดเลือดสูงสุด ทั้งๆ ที่เกือบครึ่งหนึ่งของชนกลุ่มนี้เป็นมังสวิรัติมาตลอดชีวิต

    จากการศึกษา พบว่า เกิดขึ้นเนื่องจากชนกลุ่มนี้มีระดับ HDL-Cholesterol ต่ำ และมีไตรกลีเซอไรด์สูง ร่วมกับมีรูปร่างเป็นโรคอ้วนลงพุง ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของโรคอ้วนลงพุง ซึ่งมักจะมีภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และมีไขมันที่ดีต่ำ (HDL ต่ำ)

  • การวัดความดันโลหิต

    เป็นที่ทราบกันทั่วไป ภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรง เช่น เส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้เป็นอัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

    ภาวะความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการ จนกว่าจะมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้นแล้วจึงจะปรากฏอาการ เพราะฉะนั้นปัญหาที่สำคัญในการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง คือ การทำให้ประชากรกลุ่มที่มีความดันโลหิตสูง ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง จากสถิติพบว่า ในประเทศไทย ประชากรที่มีความดันโลหิตสูง ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง เฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

    ความดันโลหิต จะประกอบด้วย ความดันตัวบน เรียกว่า ความดันซิสโตลิค (Systolic Pressure) และความดันตัวล่าง เรียกว่า ความดันไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) ซึ่งค่าปกติจะไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันโลหิตสูงกว่านี้ ถือว่ามี “ความดันโลหิตสูง”

    ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงไว้ว่า“ความดันโลหิตสูง” คือ สภาวะที่ค่าของความดันเลือดที่วัดอย่างถูกต้อง และมีการตรวจวัดหลายๆ ครั้ง ในต่างวาระกันแล้ว พบว่ามีระดับของความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท

    เราแบ่งระดับความรุนแรง ของภาวะความดันโลหิตสูงไว้ ดังนี้

    ระดับ Systolic ระดับ Diastolic
    เหมาะสม (Optimal) < 120 < 80
    ปกติ (Normal) < 130 < 85
    เกือบสูง (High-Normal) 130-139 85-89
    ความรุนแรงระดับ 1 : Mild Hypertension 140-159 90-99
    ความรุนแรงระดับ 2 : Moderate Hypertension 160-179 100-109
    ความรุนแรงระดับ 3 : Severe Hypertension >=180 >=110
    solated Systolic Hypertension >=140 < 90
    เอกซเรย์ทรวงอก

    ในประเทศไทยวัตถุประสงค์หลัก ในการเอกซเรย์ทรวงอกในผู้ที่ไม่มีอาการ คือ เพื่อตรวจหาวัณโรคปอดระยะแรก ที่อาจจะยังไม่มีอาการ เนื่องจากวัณโรคปอด ยังเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เมื่อเป็นวัณโรคปอด เอกซเรย์จะเห็นเป็นจุดทึบ หรือเป็นหย่อมทึบที่เนื้อปอด ซึ่งจะต้องตรวจเพิ่มเติมว่า จุดหรือรอยทึบที่เห็นนั้น เป็นวัณโรคปอดหรือไม่ เช่น ตรวจหาเชื้อจากเสมหะ เป็นต้น สำหรับผู้มีประวัติ เคยเป็นวัณโรคปอด และได้รับการรักษาจนหายเรียบร้อยแล้ว เมื่อเอกซเรย์ปอด ก็อาจจะยังพบมีรอยทึบ หรือจุดในปอดหลงเหลืออยู่ และพบตลอด เนื่องจากเป็นรอยแผลเป็น ในรณีเช่นนี้ ควรมีเอกซเรย์ปอดของเก่าเก็บไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับเอกซเรย์ใหม่ ถ้าจุดที่พบในเอกซเรย์ยังคงเหมือนเดิม ก็บอกได้ว่า “ผลปกติ”

    นอกจากวัณโรคปอด เอกซเรย์ทรวงอกจะช่วยตรวจกรองเนื้องอกในปอด ประเมินขนาดของหัวใจ และดูแนวกระดูกสันหลังว่า มีคดงอหรือไม่ ในกรณีถ้าแพทย์ อ่านผลการเอกซเรย์ทรวงอกว่า มีหัวใจโตเล็กน้อย อย่ากังวลใจ ถ้าตรวจร่างกายผลปกติ และความดันโลหิตไม่สูง หัวใจโตเล็กน้อย จะไม่บ่งชี้โรค เพราะเมื่ออายุมากขึ้นหัวใจมักจะมีขนาดโตขึ้น และเกณฑ์การวัดขนาดของหัวใจจากเอกซเรย์ทรวงอก จะเป็นเพียงการประเมินคร่าวๆ เท่านั้น แต่ถ้าเอกซเรย์ปอดแล้วมีหัวใจโตมาก ต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ

    การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC)
    การตรวจประกอบด้วย

    • Hemoglobin : HGB การวัดปริมาณความเข้มข้นของฮีโมโกลบินค่าปกติ ชาย 13.0-18.0 gm% หญิง 11.5-16.5 gm%
    • Hematocrit : HCT การวัดปริมาณอัดแน่นของเม็ดเลือดแดง ค่าปกติ ชาย 40-54% หญิง 36-47% การตรวจวัด HGB และ HCT ใช้ตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง ถ้าค่าของ HGB และ HCT ที่ตรวจพบมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ ถือว่า “มีภาวะโลหิตจาง” ภาวะโลหิตจาง มีผลทำให้ประสิทธิภาพของการไหลเวียนเลือดลดลง ทำให้ความสามารถในการทำงาน ความอดทน และความสามารถในการใช้กำลังร่างกายลดลง ซึ่งกลุ่มที่มีโลหิตจางได้บ่อย ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์ สตรีในวัยเจริญพันธุ์ ประชากรที่มีรายได้น้อย และเด็กที่ขาดสารอาหาร สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางที่สำคัญและพบบ่อยที่สุด คือ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นภาวะโลหิตจางที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก
โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง
809/1 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300

โทรศัพท์ : 02-242-5045

ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 86
ผู้เยี่ยมชมทั้งหมด 323,044
  • MEA
    แฟกซ์ : 02-242-5120
  • MEA
    E-mail : med@mea.or.th
© สงวนลิขสิทธิ์ 2566 : การไฟฟ้านครหลวง