• MEA

โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง

MEA HOSPITAL

ฟันและสุขภาพในช่องปาก

โรคปริทันต์คืออะไร

Create Date: 17 พ.ค. 55
สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียฟันไปก่อนกำหนด คือ
  • โรคฟันผุ
  • โรคปริทันต์

โรคฟันผุนั้นปรากฏอาการให้เห็น และรู้สึกได้ง่ายและเร็วกว่า "โรคปริทันต์" ฉะนั้นเราจึงรู้จักโรคฟันผุดีกว่า บางคนอาจไม่รู้จักโรคปริทันต์ แต่ถ้าพูดว่า "โรคเหงือก โรครำมะนาด" อาจจะทำให้รู้จักมากขึ้น

"ปริ" แปลว่า "รอบ ๆ", "ทันต์" แปลว่า "ฟัน" ดังนั้นโรคปริทันต์ จึงหมายถึง โรคที่เกิดกับอวัยวะรอบฟัน นั่นคือเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน

โรคปริทันต์ ในระยะแรก ๆ นั้นมักไม่ใคร่เจ็บปวด ฉะนั้นเราจึงอาจไม่ได้สังเกตุอาการที่เริ่มทีละน้อย เช่น เหงือกเริ่มบวมฉุ ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ หรือ แม้แต่การที่มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน บางครั้งนึกว่าอายุมากขึ้น เหงือกจะร่นขึ้นไปตามวัย 4 ใน 5 ของคนวัยรุ่น และ วัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคปริทันต์ โดยที่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์เราสูญเสียฟัน โดยมีสาเหตุจาก "โรคปริทันต์" มากกว่าสาเหตุอื่น ๆ อย่างไรก็ตามโรคปริทันต์ส่วนใหญ่สามารถป้องกัน และ รักษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจพบ และ รีบรักษาในระยะแรก ๆ




โรคฟันผุ



โรคปริทันต์

สาเหตุสำคัญของโรคปริทันต์ คือ คราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque )
คราบจุลินทรีย์ คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ซึ่งแม้ว่าจะบ้วนน้ำ ก็ไม่สามารถหลุดออกได้ คราบจุลินทรีย์เกิดขึ้นได้ หลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากมายในปาก จะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้ จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้าง กรดและ สารพิษ

กรด จะทำลายเคลือบฟันทำให้ ฟันผุ
สารพิษ จะทำให้เหงือกอักเสบเกิด

โรคปริทันต์ ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยการทำความสะอาดฟัน และ เหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุนลินทรีย์มาก โดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือก และซอกฟัน สามารถใช้สีย้อม ให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถจะเห็น และรู้สึกเมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน
 
หินปูนและหินน้ำลาย คือ คราบจุลินทรีย์ที่แข็งเนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน อย่างไรก็ตามบนพื้นผิวของหินปูนยังมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุม จึงเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ได้ หินปูนที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่หินปูนที่อยู่ร่องเหงือกจะมองไม่เห็น โดยเหตุที่คราบจุลินทรีย์จะค่อย ๆ แข็งตัว ดังนั้นจึงควรกำจัดคราบจุลินทรีย์เสียก่อนที่จะแข็งเป็นหินปูน เพราะวิธีทำความสะอาดฟันด้วยตนเองนั้นไม่สามารถกำจัดหินปูนออกได้ อย่าลืมว่า " ท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์เหนียว ๆ ออกจากฟันได้ด้วยตนเอง " แต่ " ท่านไม่สามารถเอาหินปูนออกเองได้ หรือ เอาคราบจุลินทรีย์ ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกออกได้ "



คราบจุลินทรีย์สะสมบนตัวฟันก่อนย้อมสี



คราบจุลินทรีย์หลังย้อมสี
สาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์
  • การมีเศษอาหารติดแน่นหรือค้างตามซอกฟัน และตัวฟันเนื่องจาก
    • ฟันสัมผัสกันผิดปกติ เช่น หลวมเกินไป หรือ เว้นช่องว่างไม่พอดี
    • ฟันเก
    • ฟันไม่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น ถอนฟันล่างไปแล้วไม่ได้ใส่ ทำให้ฟันบนตรงข้าม ยื่นยาวลงมา ดังนั้นระดับของฟันบนที่ยื่นลงมากับฟันข้างเคียง จึงไม่อยู่ในระดับเดียวกัน จากสาเหตุ ข้อ 1.1- 1.3 นั้น เมื่อรับประทานอาหารจึงมักมีเศษอาหารติดแน่นตามซอกฟัน โดยมีแรงอัดเข้าซอกฟัน กดบนเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบและเกิดเป็นโรคปริทันต์ได้
  • การมีขอบวัสดุอุดฟันเกินออกมา ทำให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ และขัดขวางการทำความสะอาด เช่น ทำให้ใยไนล่อนขาดระหว่างการทำความสะอาด ซอกฟัน
  • การมีฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป หรือไม่ถูกต้อง เช่น การมีเหงือกอักเสบใต้ฟันปลอมที่หลวม
  • สาเหตุร่วมทางร่างกายที่ทำให้โรคปริทันต์เป็นรุนแรงขึ้น เช่น ระยะวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ และหมดประจำเดือน ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนไป ผู้ที่อยู่ในวัยดังกล่าว ถ้ามีสภาพเหงือกที่แข็งแรงอยู่แล้ว จะไม่เป็นโรคปริทันต์ แต่ถ้ามีการอักเสบของเหงือกอยู่ จะทำให้เป็นมากขึ้นกว่าปกติ
  • สาเหตุร่วมทางร่างกายอื่น ๆ อาจเกิดจากการขาดอาหารบางชนิด โรคทางด้านจิตใจ โรคลมบ้าหมู ซึ่งผู้ป่วยรับประทานยาพวก Dilantin ( มีแนวโน้มทำให้เหงือกโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรักษาความสะอาดไม่ดี ) โรคเลือดต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่ร่างกายมีความต้านทาน และการซ่อมแซมต่ำ เป็นต้น



  • หินปูนเกาะบริเวณคอฟันและซอกฟัน



    ฟันสัมผัสกันผิดปกติและไม่อยู่ระดับเดียวกัน



    ฟันเกมีคราบจุลินทรีย์และหินปูน



    ฟันบนยื่นลงมา เพื่อจะปิดช่องว่างฟันล่างที่ถอนแล้วไม่ใส่



    ขอบวัสดุ ครอบฟันที่เกิน



    เหงือกอักเสบรอบฟันที่ครอบไม่ดี



    การอักเสบใต้ฟันปลอมที่หลวม



    เหงือกอักเสบในวัยรุ่น



    เหงือกที่อักเสบ บวม แดง



    การที่ฟันเคลื่อนห่างจากเดิม
ขั้นตอนการเกิดโรคปริทันต์
ท่านมีอาการอย่างนี้หรือไม่
  • แปรงฟันแล้วมีเลือดออก
  • เหงือกบวมแดง
  • มีกลิ่นปาก
  • เหงือกร่นมีหนองออกจากร่องเหงือก
  • ฟันโยก
  • ฟันเคลื่อนห่างจากกัน

ถ้าท่านมีอาการดังกล่าว แสดงว่า โรคปริทันต์ได้มาเยี่ยมเยือนท่านแล้ว ถ้าท่านละเลยการทำความสะอาดฟัน จะทำให้คราบจุลินทรีย์สะสมตัวบนฟันมากขึ้น ทำให้เกิด โรคปริทันต์ได้

โรคปริทันต์นั้นขบวนการที่เกิดต่อเนื่องกัน แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงแยกออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้คือ

  • ขั้นที่ 1

    เหงือกอักเสบ บวม แดง ปกติเหงือกจะมีสีชมพูซีด และรัดแน่นรอบคอฟัน โดยมีร่องเหงือกลึกประมาณ 0.5 - 3 ม.ม. การวัดความลึกของร่องเหงือกใช้เครื่องมือ เรียกเครื่องมือตรวจปริทันต์ ( Periodontal Probe ) เมื่อคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นบนตัวฟัน โดยเฉพาะใกล้ขอบเหงือกและเข้าไปในร่องเหงือก ทำให้สารพิษซึ่งอยู่ในคราบจุลินทรีย์ซึมผ่านเข้าไปในเหงือกได้ จึงเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น การอักเสบจะทำให้เหงือกไม่รัดแน่นกับตัวฟัน ทำให้คราบจุลินทรีย์สามารถเข้าไปในร่องเหงือกง่ายขึ้น และทำอันตรายมากขึ้น ร่างกายจะต่อสู้โดยส่งเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น โดยหลอดเลือดบริเวณนั้น จะขยายใหญ่ขึ้น เหงือกจึง บวม แดง และมีการอักเสบดังนั้นเมื่อโดนแปรงหรือแรงกดใดเพียงเบา ๆ จะทำให้เลือดออกได้

    การให้การรักษาที่ถูกต้องและการรักษาสุขภาพช่องปากอย่างดีในระยะแรกนี้ สามารถหยุดโรคเหงือกอักเสบนี้ได้อย่างสิ้นเชิง เหงือกสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้

  • ขั้นที่ 2

    ถ้าละเลยให้คราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้น จะทำให้คราบจุลินทรีย์บุกรุกเข้าไป ในร่องเหงือกมากขึ้นไปอีก ร่องเหงือกก็จะยิ่งลึกยิ่งขึ้น เนื่องจากการทำลายของเส้นใยเหงือก ถ้าร่องเหงือกลึกเกิน 3 ม.ม. เรียกร่องเหงือกนั้นว่า ร่องลึกปริทันต์ (Periodontal Pocket) ซึ่งร่องลึกปริทันต์นี้ทำความสะอาดได้ยากมาก และจะทำความสะอาดเองไม่ได้เลย เมื่อคราบจุลินทรีย์เปลี่ยนเป็นหินปูน สารพิษจากคราบจุลินทรีย์ในร่องลึกปริทันต์ 4 ม.ม. นี้สามารถทำลายกระดูกใกล้เคียงได้

    การรักษากับการทำความสะอาดอย่างถูกต้องจะทำให้การดำเนินของโรคช้าลง หรือหยุดได้ แต่เหงือกและกระดูกไม่สามารถจะกลับสู่สภาพเดิมได้ อย่างสมบูรณ์

  • ขั้นที่ 3

    คราบจุลินทรีย์จะสะสมมากขึ้น ทำใหัเกิดการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน และร่องลึกปริทนต์ จะเลื่อนไปทางปลายรากฟันมากขึ้น จะมีหนอง เกิดภายในร่องลึกปริทนต์ แล้วซึมเข้าไปภายในช่องปาก ทำให้มีกลิ่นปาก

    การรักษาร่วมกับการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ยังคงหยุดการดำเนินของโรคในขั้นนี้ได้

  • ขั้นที่ 4

    ในขั้นนี้จะมีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟันไป ประมาณครึ่งหนึ่ง และเหงือกจะร่นตามไปด้วย ทำให้เห็นฟันยาวขึ้น บางครั้งเหงือกจะไม่ร่นตามกระดูก แต่จะใหญ่ขึ้นเพราะมีการอักเสบระยะนาน ทำให้มักเข้าใจผิดไปว่าปกติ อันที่จริงแล้วมีโรคอยู่ข้างใต้ จะมีอาการปวด บวม เป็นฝี เนื่องจากการระบายหนองออกจากร่องลึกปริทันต์ติดขัด เมื่อฝีแตกก็จะหายปวด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะหายขาด จะเป็น ๆ หาย ๆอยู่เช่นนี้ จนกว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีการละลายของกระดูกมากขึ้น ทำให้ฟันโยกมากขึ้นในที่สุดจะถึงขั้นที่ 5

  • ขั้นที่ 5

    ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้าย เนื่องจากมีการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟันมาก จนเกือบถึงปลายราก ฟันโยกมาก เพราะไม่มีกระดูกมายึดไว้ซึ่งในขั้นนี้ไม่สามารถรักษาใด ๆ ได้ นอกจากต้องถอนฟันทิ้งไป




เหงือกปกติมีร่องเหงือกลึก 2 มม.



ขั้นที่ 1  ของโรคปริทันต์



ขั้นที่ 2  ของโรคปริทันต์



ขั้นที่ 3  ของโรคปริทันต์



ขั้นที่ 4  ของโรคปริทันต์



ขั้นที่ 4  ของโรคปริทันต์เมื่อเหงือกไม่ร่น



ขั้นที่ 5  ของโรคปริทันต์

ท่านสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้หรือไม่

เนื่องจากคราบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ แต่ท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างถูกต้อง ดังนั้น ท่านสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้แน่นอน โรคปริทันต์จะไม่เกิดขึ้น ถ้าท่าน

  • แปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันอย่างถูกต้อง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์
  • พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่หลงเหลือ จากการทำความสะอาดเองหรือไม่มีฟันผุหรือไม่ จะได้รับการรักษาได้ในระยะเริ่มแรก
โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง
809/1 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300

โทรศัพท์ : 02-242-5045

ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 6
ผู้เยี่ยมชมทั้งหมด 323,356
  • MEA
    แฟกซ์ : 02-242-5120
  • MEA
    E-mail : med@mea.or.th
© สงวนลิขสิทธิ์ 2566 : การไฟฟ้านครหลวง