มารู้จักฟันและเหงือกก่อน
การดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งในการรับประทานอาหารนั้น ฟันนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เนื่อง จากฟันทำหน้าที่จับ หรือ ฉีกอาหาร บดเคี้ยวอาหาร และ เป็นส่วนประกอบเพื่อความสวยงามของใบหน้าและใช้ในการพูด
มนุษย์มีฟันอยู่ 2 ชุด
- ฟันน้ำนม
เป็นฟันชุดแรก มี 20 ซี่ แบ่งเป็น ฟันบน 10 ซี่ และ ฟันล่าง 10 ซี่ เริ่มเห็นฟันซี่แรกในปาก เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน และจะขึ้นครบเต็มปากเมื่ออายุประมาณ 2 ½ ขวบ ฟันน้ำนม 20 ซี่นี้ ประกอบด้วย ฟันหน้า(ฟันตัดหรือฟันกัด) 8 ซี่ ฟันเขี้ยว 4 ซี่ ฟันกราม 8 ซี่
- ฟันถาวร (ฟันแท้)
เป็นฟันชุดสุดท้ายมี 32 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 16 ซี่ และ ฟันล่าง 16 ซี่ ฟันชุดนี้ มีฟันหน้า (ฟันตัดหรือฟันกัด ) 8 ซี่ ฟันเขี้ยว 4 ซี่ ฟันกรามน้อย 8 ซี่ ฟันกราม 12 ซี่ ฟันแท้ซี่ แรกเป็นฟันกราม ขึ้นเมื่ออายุ 6 ปี ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายอาจขึ้นเร็วหรือช้า ง่ายหรือยากได้ต่างๆกัน มีระยะเวลาการขึ้นจนกว่าจะเต็มซี่ ตั้งแต่อายุ 18 - 30 ปี
ระยะการขึ้นและการหลุดของฟันน้ำนม
ฟันบน | ขึ้น | หลุด |
---|---|---|
ฟันหน้าซี่กลาง | 7 ½ เดือน | 7 - 8 ปี |
ฟันหน้าซี่ข้าง | 9 เดือน | 8 - 9 ปี |
ฟันเขี้ยว | 18 เดือน | 11 - 12 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 1 | 14 เดือน | 10 - 11 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 2 | 24 เดือน | 10 - 12 ปี |
ฟันล่าง | ขึ้น | หลุด |
ฟันหน้าซี่กลาง | 6 เดือน | 6 - 7 ปี |
ฟันหน้าซี่ข้าง | 7 เดือน | 7 - 8 ปี |
ฟันเขี้ยว | 16 เดือน | 9 - 10 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 1 | 12 เดือน | 10 - 12 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 2 | 20 เดือน | 11 - 12 ปี |
ระยะการขึ้นของฟันถาวร
ฟันบน | ขึ้น |
---|---|
ฟันหน้าซี่กลาง | 7 - 8 ปี |
ฟันหน้าซี่ข้าง | 8 - 9 ปี |
ฟันเขี้ยว | 11 - 12 ปี |
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 1 | 10 - 11 ปี |
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 2 | 10 - 12 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 1 | 6 - 7 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 2 | 12 - 13 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 3 | 17 - 21 ปี |
ฟันล่าง | ขึ้น |
ฟันหน้าซี่กลาง | 6 - 7 ปี |
ฟันหน้าซี่ข้าง | 7 - 8 ปี |
ฟันเขี้ยว | 9 - 10 ปี |
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 1 | 10 - 12 ปี |
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 2 | 11 - 12 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 1 | 6 - 7 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 2 | 11 - 13 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 3 | 17 - 21 ปี |
ฟัน
ฟันแต่ละซี่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ ตัวฟัน (Crown) และ รากฟัน (Root)- ตัวฟัน คือ ส่วนที่มองเห็นได้ในปาก ซึ่งโผล่พ้นจาก กระดูกขากรรไกรที่ฟันฝังตัวอยู่
- รากฟัน คือ ส่วนที่มองไม่เห็น เนื่องจากฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร และ ยังถูกคลุมทับด้วยเหงือกอีกด้วย ฟันบางซี่มี 1ราก เช่น ฟันหน้า และบางซี่มี 2 หรือ 3 ราก เช่น ฟันกราม
บริเวณที่ตัวฟันพบกับรากฟันเรียก คอฟัน

ส่วนประกอบของฟันทั้งภายนอกและภายในกระดูกขากรรไกร
- ตัวฟัน (Crown) ประกอบด้วย
- เคลือบฟัน (Enamel) เป็นส่วนชั้นนอกที่สุดที่ปกคลุมตลอด ส่วนตัวฟันไปถึงคอฟัน เคลือบฟันนี้แข็งที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ป้องกันเนื้อฟัน เคลือบฟันมีสีขาวอมเหลืองถึงขาวอมเทา และ มีลักษณะโปร่งแสง ฉะนั้นการที่คนเรามีฟันขาวหรือเหลืองกว่ากัน เนื่องจาก มีความหนาบาง และ ความโปร่งแสงของเคลือบฟันมากน้อยต่างกัน บางคนฟันเหลืองกว่าอีกคน เนื่องจาก มีเคลือบฟันบางกว่า และ โปร่งแสงมากกว่าอีกคน จึงทำให้เห็นส่วนเนื้อฟันใน (Dentin) ซึ่งมีสีเหลือง ได้ชัดเจนกว่าอีกคน
- เนื้อฟัน (Dentin) มีสีเหลืองอยู่ใต้เคลือบฟัน มีตลอดทั้งส่วนตัวฟัน และ รากฟัน เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลางของฟัน ซึ่งมีการสร้างเนื้อฟันเพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิต ซึ่งต่างกับเคลือบฟันที่ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้
- โพรงประสาทฟัน ( Pulp Cavity) เป็นช่องหรือโพรงอยู่ใจ กลางตัวฟัน ช่องนี้ติดต่อกับคลองรากฟันด้วย โพรงประสาทฟันเป็นที่อยู่ของ เนื้อเยื่อที่อยู่กันหลวมๆ ประกอบด้วย เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟัน เส้นประสาทที่มาสู่ฟัน และเซลล์ที่สร้างเนื้อฟันรวมทั้งหลอดน้ำเหลือง โพรงประสาทฟัน ทำหน้าที่ ป้องกันอันตรายจากภายนอก และมีเนื้อเยื่อให้อาหาร และความรู้สึกแก่เนื้อฟัน ซึ่งถ้ามีอันตรายจากภายนอกจะเป็นผลให้เกิดอาการปวดหรือเสียวฟันได้
- รากฟัน (Root) ประกอบด้วย
- เคลือบรากฟัน (Cementum) มีสีเหลืองอ่อนเป็นส่วนชั้นนอกสุดของรากฟัน หุ้มรากฟันไว้ ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกัน แต่ทำหน้าที่เป็นที่ยึดของเอ็นยึดปริทันต์ให้รากฟันติดกับกระดูก เคลือบรากฟันนี้จึงอ่อนกว่าเคลือบฟัน(Enamel)
- เนื้อฟัน (Dentin) เหมือนกับเนื้อฟันซึ่งเป็นชั้นกลาง ในส่วนตัวฟัน อยู่ถัดจากเคลือบรากฟัน
- โพรงรากฟัน เรียก คลองรากฟัน ( Root Canal ) อยู่ใจกลางรากฟัน และติดต่อกับโพรงประสาทฟัน ตรงปลายรากฟันจะมีรูเปิดให้คลองรากฟันติดต่อกับเนื้อเยื่อภายนอก รูเปิดนี้เป็นทางผ่านของเส้นเลือด เส้นประสาท และหลอดน้ำเหลือง ซึ่งแยกมาจากร่างกายส่วนขากรรไกรและใบหน้า เส้นเลือดดำจะไปต่อกับเส้นเลือดดำใหญ่ภายนอก ทำให้เลือดจากภายในฟันเข้าสู่วงจรโลหิตติดต่อกันทั่วร่างกาย ฉะนั้นถ้ามีฟันผุถึงคลองรากฟันจะมีโอกาสให้เชื้อโรคกระจายไปสู่อวัยวะสำคัญได้ เช่น สมอง หัวใจ และไต เป็นต้น

ส่วนประกอบของตัวฟัน รากฟัน และ อวัยวะรอบฟัน
อวัยวะรอบรากฟัน
รากฟันแต่ละซี่ ฝังแน่นอยู่ในกระดูกเบ้าฟัน โดยมีเอ็นยึดปริทันต์( Periodontal Ligament ) ยึดจากเคลือบรากฟันไปยังกระดูกเบ้าฟัน นอกจากนั้นจะมีเหงือกรัดแน่นรอบคอฟัน และหุ้มกระดูกเบ้าฟัน โดยมีเส้นใยเหงือก( Gingival Fiber ) รัดแน่นระหว่างเหงือกและฟัน เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอม หรืออันตรายใดๆ ผ่านเหงือกลงไปสู่อวัยวะข้างใต้ได้ แต่ระหว่างเหงือกกับฟันจะมีร่องลึก 0.5 - 3 ม.ม. โดยรอบเรียกว่าร่องเหงือก ( Gingival Sulcus หรือ Gingival Crevice )
เหงือกปกติจะมีสีชมพูซีดรัดแน่นรอบคอฟัน ถ้าคนที่มีสีผิวคล้ำเหงือกอาจมีสีคล้ำได้ เหงือกแบ่งออกเป็น 3 บริเวณ
- ขอบเหงือก (Marginal Gingiva ) คือส่วนที่ล้อมรอบคอฟัน เป็นส่วนผนังของร่องเหงือก และมีลักษณะบางแนบกับคอฟัน
- เหงือกยึด ( Attached Gingiva ) คือเหงือกส่วนที่ยึดติดกับฟันและกระดูกเบ้าฟัน เหงือกส่วนนี้ต่อมาจากขอบเหงือก ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะข้างใต้ เหงือกยึดมีสีชมพูซีดและมีความกว้างตั้งแต่ 1- 6 ม.ม.
- เหงือกสามเหลี่ยมระหว่างฟัน (Interdental Papilla ) คือขอบเหงือกที่อยู่ระหว่างซี่ฟัน

ขั้นตอนการผุของฟันจากเคลือบฟัน - คลองรากฟัน

องค์ประกอบของฟันและอวัยวะรอบฟัน

เหงือกปกติ

เหงือกปกติของคนอายุ 65 ปี

เหงือกปกติของคนที่มีสีผิวคล้ำ

ขอบเหงือก เหงือกยึด และ สามเหลี่ยมระหว่างฟัน