ผลการดำเนินงานด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ปี 2560
ในปัจจุบัน นอกเหนือจากผลประกอบการทางด้านการเงินซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตขององค์กรแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ความสำคัญในเรื่องการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กร ทำให้ทุกองค์กรต้องพัฒนาการดำเนินงานเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ อันจะส่งผลต่อความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว

จากทิศทางความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เปลี่ยนแปลงไป กฟน. ได้ ยกระดับการดำเนินงานด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการที่ดีร่วมกัน โดยบูรณาการดำเนินงานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันภายใต้แผนแม่บทเสริมสร้างความยั่งยืนตามกรอบ ESG (Environmental Social and Governance) เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ควบคู่กับการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และการลดความเสี่ยงขององค์กร อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร สอดรับกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล โดยการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแผนแม่บทเสริมสร้างความยั่งยืน พ.ศ. 2560-2564 มีกลยุทธ์ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (E)
“เป็นองค์กรชั้นนำด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในระดับสากล"
โครงการพัฒนาสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ
มุ่งศึกษาและพัฒนาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร สอดคล้องกับแผนแม่บทเสริมสร้างความยั่งยืนขององค์กร และแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2557 - 2593 ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผ่านกิจกรรมซึ่งทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตัวอย่างกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ อาทิ การวางแผนและควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในยานพาหนะ การปรับปรุงอุปกรณ์เกี่ยวกับแสงสว่างและระบบปรับอากาศของอาคาร โครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (MEA Energy Saving Building) กิจกรรมล้างเครื่องปรับอากาศให้กับประชาชน ฯลฯ
โครงการพัฒนาสำนักงานสีเขียวตามข้อกำหนดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียว (Green Office) ตามเกณฑ์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมของพนักงานทั่วทั้งองค์กรในการพัฒนาศักยภาพการจัดการทรัพยากร พลังงาน และสิ่งแวดล้อมในสำนักงานอย่างคุ้มค่าและมีความปลอดภัย ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสำนักงานในอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคาร โดยในปี 2560 กฟน. ได้ส่งสำนักงานเข้าร่วมประเมินตามโครงการสำนักงานสีเขียว (Green Office) จำนวน 3 สำนักงาน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง เขตนนทบุรี การไฟฟ้านครหลวง เขตบางใหญ่ และอาคาร 576 สำนักงานใหญ่ (สถานพยาบาลเพลินจิต)
ด้านสังคม (S)
“เป็นองค์กรระดับแนวหน้าที่ใส่ใจ และห่วงใยสังคมไทย"
โครงการคืนแสงสว่างให้ชุมชน (คสช.)
ประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อดำเนินการติดตั้งหรือบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าสาธารณะ เช่น โคมไฟฟ้า เพื่อเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่จุดเสี่ยง สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนสำคัญในเขตพื้นที่จำหน่าย พร้อมขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ให้สามารถเข้าถึงความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมสำคัญ เช่น กิจกรรมออกหน่วยบริการชุมชน กิจกรรม Young MEA
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ วางแผน และร่วมดำเนินกิจกรรมไปพร้อม ๆ กับองค์กร สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐ โดยใช้ศักยภาพและความสามารถขององค์กรในการร่วมขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมพัฒนาชุมชนยั่งยืน กิจกรรมช่างไฟฟ้ามืออาชีพ

งาน Energy Mind Award
เป็นโครงการที่ กฟน. ดำเนินการเพื่อส่งเสริมสร้างจิตสำนึกแก่บุคลากรทางการศึกษาและเยาวชนในสถานศึกษาในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยรณรงค์ให้สามารถบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของทุกกลุ่มสาระวิชา เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศและได้รับมาตรฐานสถานศึกษาดีเด่นด้านพลังงานระดับ 1 – 5 ดาว รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการศึกษาและเยาวชนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการผ่านการให้รางวัล Energy Master Award และรางวัล Young Energy Master Award โดยดำเนินการย่างเข้าสู่ปีที่ 10 และมีแนวโน้มการขยายตัวด้านแนวคิดโครงการสู่สถานศึกษาและชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ปัจจุบันมีสถานศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นในทุกปี
งานส่งเสริมการทำงานใกล้ระบบไฟฟ้าอย่างปลอดภัย
ด้วยความเชื่อมั่นว่าอุบัติภัยจากระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ กฟน. ได้มีการรณรงค์ และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านระบบไฟฟ้าและมาตรฐานความปลอดภัยที่สำคัญให้แก่บุคลากรทั้งในภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำงานใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง
ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (G)
“เป็นองค์กรโปร่งใส ฉับไว และมีสมรรถนะสูง"
โครงการพัฒนาการดำเนินงานด้านกำกับดูแลกิจการที่ดี เทียบเคียง ACGS
สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการดำเนินงานขององค์กรที่มีความโปร่งใส มีคุณธรรม ตรวจสอบได้ โดยยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี สู่มาตรฐานสากล ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำกับดูแลกิจการของ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการกำกับดูแลกิจการ และสนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โครงการปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับตาม พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม
สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สามารถดำเนินการตามแนวปฏิบัติว่าด้วยจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างถูกต้อง โดยในปี 2560 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการศึกษา พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พร้อมพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ขององค์กรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ดังกล่าวโครงการพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใส เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
มุ่งป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายการป้องกันและต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption Policy) ขององค์กร โดยสนับสนุนให้มีแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริต และพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรให้มีระบบตามมาตรฐานสากล ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่น ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยมีการประเมินจากหน่วยงานภายนอก
โครงการบูรณาการมาตรฐานด้านสังคม ISO26000:2010 สู่กระบวนงาน
นำมาตรฐานด้านสังคม ISO 26000 เชื่อมโยงสู่การปฎิบัติงานในกระบวนงานตามภารกิจและกระบวนการทำงานขององค์กร ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ นโยบาย และการดำเนินงานภายในการไฟฟ้านครหลวงทั้ง 7 หัวข้อ ได้แก่ ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค และ การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
แผนงานพัฒนากระบวนการรองรับภาวะวิกฤต โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม
พัฒนากระบวนการรองรับสภาวะวิกฤตเพื่อให้องค์กรสามารถให้บริการแก่ลูกค้า ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกซ้อมแผนรองรับภาวะวิกฤตที่ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ยังมีการสำรวจสถานะปัจจุบันของแผนที่เกี่ยวข้องกับการรองรับภาวะวิกฤตขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ